กรุงเทพฯ 7 กุมภาพันธ์ 2567 – กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงข่าวเตรียมจัดงานมอบ “รางวัลอุตสาหกรรม
ประจำปี 2566″ ในวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี
ให้เกียรติเป็นประธานในการมอบรางวัลฯ เพื่อเชิดชูศักยภาพองค์กรต้นแบบ 44 แห่งทั่วประเทศ
ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
ของประเทศสู่ความเข้มแข็ง




ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมจัดงาน
มอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister’s Industry Award 2023) ในวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา
ทวีสิน เป็นประธานมอบรางวัลให้แก่สถานประกอบการที่มีความเป็นเลิศ ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต คุณภาพ
ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมและบริการ
แห่งอนาคต ความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์
ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจ
ให้กับผู้ประกอบการที่พัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ
การพิจารณารางวัลอุตสาหกรรมประจำปี พ.ศ. 2566 จะมุ่งเน้นให้รางวัลกับสถานประกอบการ
ที่มุ่งสู่การพัฒนาและปรับเปลี่ยนการประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมเศรษฐกิจ
ที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน” โดยเน้นมาตรการและกลไกมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ มิติที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
สู่อุตสาหกรรมสีเขียว และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง
สำหรับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister’s Industry Award 2023)
มีจำนวน 14 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย





- รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม (The Prime Minister’s Best Industry Award) จำนวน 1 รางวัล
ซึ่งคัดเลือกจากสถานประกอบการที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ประเภท
และเป็นสถานประกอบการที่มีการพัฒนาศักยภาพขีดความสามรถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐาน
การผลิตในระดับสากล และมีความเป็นเลิศทั้งในด้านการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด และการลงทุน
มีการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของตนเอง
และสามารถสร้างการพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมในภาพรวมได้อย่างชัดเจน - รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister’s Industry Award) แบ่งเป็น 9 ประเภท ประกอบด้วย 1) ประเภทการเพิ่มผลผลิต 2) ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3) ประเภทการบริหาร
ความปลอดภัย 4) ประเภทการบริหารงานคุณภาพ 5) ประเภทการจัดการพลังงาน 6) ประเภทการจัดการ
โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 7) ประเภทอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 8) ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม
และ 9) ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน - รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น (The Prime Minister’s Small and Medium Industry Award) แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทการบริหารจัดการที่ดี 2) ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ 3) ประเภทการจัดการเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรม และ 4) ประเภทบริหารธุรกิจสู่สากล
ดร.ณัฐพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
หรือดีพร้อม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีสถานประกอบการ
ให้ความสนใจสมัครเข้ารับการคัดเลือก จำนวนทั้งสิ้น 273 ราย แบ่งเป็นรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม
จำนวน 3 ราย รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น และรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้ง 13 ประเภท
รวม 270 ราย ซึ่งทุกรายผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะทำงานฯ แต่ละประเภทรางวัลอย่างเข้มข้น
โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดหลายด้าน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่น วิริยะอุตสาหะในการพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต คุณภาพ ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โลจิสติกส์และโซ่อุปทานอุตสาหกรรม และบริการแห่งอนาคต ความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 44 ราย และสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ได้แก่ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สามารถดูรายชื่อผู้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ.2566 ได้ที่เว็บไซต์กระทรวงอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกัน ในปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีรางวัลพิเศษ คือทูตอุตสาหกรรมภาคเอกชน หรือ
MIND Ambassador มอบให้แก่สถานประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2566
ซึ่งรางวัลนี้เปรียบเสมือนตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรมจากภาคเอกชนที่จะเป็นต้นแบบการยกระดับ
ขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมที่ดีและอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นหน่วยงานกลาง
ในการประสานความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ตลอดจนช่วยประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร และบริการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในขณะที่โครงสร้าง
ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศสูง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพัฒนายกระดับศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ
โดยกิจกรรมหนึ่งที่สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง
คือ การจัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรม โดย กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนามาตรฐาน
การประกอบการในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและเพิ่มศักยภาพ
ในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของประเทศโดยรวม” ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
ใส่ความเห็น