นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ได้เข้าร่วมเสวนาในหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำทางการแพทย์ รุ่นที่ 1 (ปนพ.1) หัวข้อ “ความสำคัญของประกันสุขภาพ ใน Aging Society” ร่วมกับ นายสาระ ลํ่าซำ ประธานสภาธุรกิจประกันภัยไทย และ นายแพทย์ วุฒิวงศ์ สมบุญเรืองศรี ประธานคณะแพทย์ที่ปรึกษา สมาคมประกันชีวิตไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 - 10.30 น. ณ ห้องประชุมวชิรเวช ชั้น 14 อาคารมหิตลาธิเบศร แพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จัดขึ้นโดยสถาบันมหิตลาธิเบศร ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า โดยหลักสูตร ปนพ. มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแพทย์ยุคใหม่และบุคลากรในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญที่จะเติบโตเป็นผู้นำในอนาคต ให้มีความพร้อมทั้งศาสตร์และศิลป์ของการเป็นผู้บริหารที่ทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์ส่วนรวม ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม สามารถนำองค์ความรู้ไปปรับใช้แก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการนี้ เลขาธิการ คปภ. ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับระบบประกันภัยแก่ผู้เข้ารับการอบรมโดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) มีหน้าที่ในการกำกับดูแล และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย คุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน โดยทำหน้าที่กำกับเพื่อให้บริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย มีฐานะการเงินที่มั่นคงเพื่อสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้กับระบบประกันภัย รวมถึงคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้เป็นหนึ่งในองค์กรที่ดูแลประชาชนและเป็นอีกหนึ่งเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับธุรกิจประกันภัยมีการลงทุนในระบบเศรษฐกิจประมาณ 4 ล้านล้านบาท โดยปัจจุบันธุรกิจประกันภัยสุขภาพมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมาก ขณะเดียวกันการเรียกร้องสินไหมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งเป็นความท้าทายของธุรกิจประกันภัยในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัย รวมถึงสำนักงาน คปภ. ในการกำกับดูแลและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันภัยพัฒนากรมธรรม์ประกันภัย เพื่อรองรับเรื่อง Aging Society ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้น สิ่งสำคัญคือเมื่อไหร่ก็ตามที่บริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยยื่นขอความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัย สำนักงาน คปภ. มีหน้าที่ต้องตรวจสอบอัตราเบี้ยประกันภัย แบบข้อความ ความคุ้มครอง เงื่อนไขต่าง ๆ ให้มีความเหมาะสมที่จะดูแลคุ้มครองประชาชนผู้เอาประกันภัย อีกทั้งสำนักงาน คปภ. ยังได้ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงระบบประกันภัยสุขภาพได้ยากสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคร้ายแรงมาก่อนและอยู่ในภาวะโรคสงบแล้ว ด้วยการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มต่าง ๆ และเพื่อให้บริษัทนำไปใช้พัฒนาต่อยอดกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันได้
นอกจากนี้ เพื่อให้ระบบประกันภัยสุขภาพมีความยั่งยืนและมีเครื่องมือในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเกิดจากการเคลมด้วยกลุ่มโรคเจ็บป่วยเล็กน้อยทั่วไป หรือการเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลโดยไม่มีความจำเป็นทางการแพทย์ ในสัญญาประกันภัยสุขภาพแบบมาตรฐานใหม่ จึงได้กำหนดเงื่อนไขการต่ออายุกรณีครบรอบปีกรมธรรม์ (Renewal) ของ New Health Standard ได้กำหนดเป็น Option ให้บริษัทสามารถปรับเงื่อนไขให้ผู้เอาประกันภัยมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment) โดยประกันภัยสุขภาพแบบ Copayment จะสามารถชะลอการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยได้ อีกทั้งจะส่งผลให้ราคาเบี้ยประกันภัยถูกลง อันจะส่งผลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงประกันภัยสุขภาพได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
ใส่ความเห็น